Wy/th/เชียงใหม่
เชียงใหม่ (Chiang Mai) เป็นศูนย์กลางภาคเหนือของประเทศไทย บนที่ราบสูง 316 เมตร ล้อมรอบด้วยภูเขาและชนบทอันเขียวขจี เชียงใหม่เป็นเมืองที่ร่มรื่นและเงียบสงบมากกว่าเมืองหลวง และมีบรรยากาศสากลและประชากรชาวต่างชาติที่เข้ามาทำงานอย่างมีนัยสำคัญ ปัจจัยทั้งหมดซึ่งทำให้ผู้คนจำนวนมากจากกรุงเทพมหานครลงหลักปักฐานถาวรอยู่ที่ "กุหลาบเวียงพิงค์" แห่งนี้
ทำความรู้จัก
[edit | edit source]ด้วยประชากรกว่า 127,000 คนที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตเทศบาลนคร (ในปี พ.ศ. 2559) และ 1.2 ล้านคนในเขตเมืองในปี พ.ศ. 2565 เชียงใหม่เป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับที่สองของประเทศไทย ก่อตั้งในปี พ.ศ. 1839 เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ โดยครั้งหนึ่งเคยเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรล้านนา ตั้งอยู่ในตีนเขาที่สลับซับซ้อนของเทือกเขาหิมาลัย 700 กม. จากกรุงเทพมหานคร ก่อนช่วงประมาณ 100 ปีที่แล้ว สามารถเข้าถึงเมืองได้ด้วยการล่องแม่น้ำที่ยากลำบากหรือการขี่ช้างเข้าป่าเท่านั้น ความสันโดษนี้ช่วยรักษาเสน่ห์เฉพาะตัวของเชียงใหม่ไว้ ซึ่งก็ยังคงอยู่จนถึงปัจจุบัน
ศูนย์กลางในประวัติศาสตร์ของเชียงใหม่คือในเขตกำแพงเมือง (เชียง คือ "เมือง" ในภาษาคำเมือง เชียงใหม่ จึงแปลว่า "เมืองใหม่") บางส่วนของกำแพงเมืองบริเวณประตูเมืองและมุมกำแพงเมืองถูกบูรณะขึ้นเมื่อไม่กี่สิบปีที่แล้ว แต่ส่วนที่เหลือเหลือเพียงแค่คูเมืองเท่านั้น
ภายในกำแพงเมืองเชียงใหม่ที่ยังเหลืออยู่ มีวัดมากกว่า 30 แห่งที่มีอยู่มาตั้งแต่ครั้งสถาปนาเมือง ที่ผสมผสานกันระหว่างสไตล์พม่า ศรีลังกา และไทยล้านนา ตกแต่งด้วยไม้แกะสลัก บันไดพญานาค สิงห์และเทพรักษาประตู ร่มสีทอง และเจดีย์ที่ล้อมรอบด้วยลวดลายสีทองอันงดงาม วัดที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือ วัดพระธาตุดอยสุเทพ ที่อยู่บนไหล่เขา 13 กม. จากตัวเมือง
เชียงใหม่ในปัจจุบันได้ขยายตัวออกทุกทิศทุกทาง โดยเฉพาะไปทางทิศตะวันออกไปที่คุ้งแม่น้ำปิง ที่ที่มีถนนช้างคลาน ไนต์บาซาร์ที่มีชื่อเสียง และโรงแรมและเกสต์เฮาส์ส่วนใหญ่ของเชียงใหม่อยู่ ถนนลอยเคราะห์คือศูนย์กลางชีวิตกลางคืน (ของนักท่องเที่ยว) ของเมืองนี้
คนท้องถิ่นมักบอกว่า คุณยังมาไม่ถึงเชียงใหม่จนกว่าคุณจะได้เห็นวิวทิวทัศน์จากดอยสุเทพ กินข้าวซอย และซื้อร่มจากบ่อสร้าง แน่นอนว่ามันเป็นคำพูดหลอกล่อนักท่องเที่ยว แต่ข้าวซอย ร่มบ่อสร้าง และดอยสุเทพก็ถือเป็นสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่สำคัญของคนท้องถิ่นที่นี่
หาทิศหาทาง
[edit | edit source]ลักษณะทางกายภาพที่โดดเด่นที่สุดของเชียงใหม่คือคูเมืองและกำแพงรอบเมืองเก่าที่ยังเหลืออยู่ ความยาวประมาณ 6.5 กม. มันเป็นตัวช่วยอ้างอิงในการนำทางในเมืองได้เป็นอย่างดี
ฟากตะวันออกและตะวันตกของเมืองเก่าต่างมีลักษณะของตัวเอง ฝั่งตะวันออกมีเกสต์เฮาส์ ภัตตาคาร ร้านเช่ามอเตอร์ไซค์ เอเย่นต์ท่องเที่ยว และบริการอื่นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวอยู่หนาแน่นที่สุด มุมทิศตะวันออกเฉียงเหนือเต็มไปด้วยเกสต์เฮาส์ ภัตตาคาร ร้านนวด และธุรกิจอื่นๆ ที่ตอบสนองกับผู้มาเยือน ฟากตะวันตกมีความเป็นไทยมากกว่า โดยมีโรงเรียนสอนคนตาบอด ร้านขายโลงศพ หอสมุดแห่งชาติสาขาเชียงใหม่ และร้านหมูกระทะ 5-6 ร้านที่มีลูกค้าชาวไทยอยู่หนาแน่นเกือบตลอดเวลา
หมุนตามเข็มนาฬิกาจากทิศเหนือ จุดหลักๆ ของคูเมืองและบริเวณโดยรอบ ได้แก่
- ประตูช้างเผือก (Chang Phuak Gate) (กึ่งกลางคูเมืองฝั่งเหนือ). สร้างโดยพญามังรายในปี พ.ศ. 1839 ในอดีตเรียกว่า ประตูหัวเวียง เพราะถือว่าเป็นประตูที่สำคัญที่สุด พญาแสนเมืองมา (พ.ศ. 1908 - พ.ศ. 1944) ทรงสร้างอนุสาวรีย์ช้างเผือกภายนอกประตูในรัชสมัยของพระองค์ ชื่อของประตูนี้จึงค่อยๆ เปลี่ยนมาเป็นชื่อปัจจุบัน ในสมัยก่อน ว่าที่กษัตริย์จะทรงเข้าเมืองผ่านประตูนี้เพื่อเสด็จไปยังพิธีบรมราชาภิเษกของพระองค์ ถนนจากประตูนี้ไปทางทิศเหนือไปยังสถานีขนส่งภายในจังหวัดที่ชื่อว่าช้างเผือกเช่นเดียวกัน หลังจากนั้นต่อไปยังแม่ริม ปาย เชียงราย และพรมแดนลาว
- แจ่งศรีภูมิ (Si Phum Corner) (มุมคูเมืองฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือ). ถ้าเลี้ยวซ้ายจากจุดนี้จะไปยังซูเปอร์ไฮเวย์ ถ้าตรงไปจะไปยังสะพานข้ามแม่น้ำปิง และต่อไปยังสถานีรถไฟและสถานีขนส่ง ถ้าเลี้ยวขวา (ไปทางใต้) จะขนานไปกับคูเมืองฝั่งตะวันออก
- ประตูท่าแพ (Tha Phae Gate) (กึ่งกลางคูเมืองฝั่งตะวันออก). สร้างในปี พ.ศ. 1839 โดยชื่อว่าประตูเชียงเรือก ตั้งชื่อตามหมู่บ้านที่อยู่ในบริเวณนั้น ในอดีตเคยมีประตูท่าแพชั้นนอกอยู่ที่แม่น้ำ และประตูนี้ก็คือประตูท่าแพชั้นใน เมื่อท่าแพถูกแทนที่ด้วยสะพาน ประตูนี้จึงกลายมาเป็นประตูท่าแพ ถูกสร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2528 - พ.ศ. 2529 บริเวณโดยรอบเป็นพื้นที่ที่มีประโยชน์กับนักท่องเที่ยวมากที่สุดเนื่องจากมีจำนวนบริการนักท่องเที่ยวมากที่สุด ไนต์บาซาร์อยู่ทางทิศตะวันออก โดยเดินเท้าใช้เวลาประมาณ 15 นาที ดูเหมือนว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นตลอดเวลาในบริเวณลานหน้าประตู ทุกๆ วันอาทิตย์ ตลาดคนเดินจะเริ่มจากจุดนี้
- แจ่งก็ะตำ (Katam Corner) (มุมคูเมืองฝั่งตะวันออกเฉียงใต้). ก็ะตำ (อ่านว่า กะตำ) เป็นเครื่องมือดักจับปลาชนิดหนึ่ง น้ำที่ไหลเข้าเมืองจากแจ่งหัวลิน (ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ) ไหลมารวมกันเป็นบ่อน้ำขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยปลาใกล้ๆ มุมนี้ มุมนี้จึงมีชื่อมาจากเครื่องมือที่ใช้สำหรับดักจับปลา ถ้าเลี้ยวซ้ายจากจุดนี้จะไปยังแม่น้ำปิง
- ประตูเชียงใหม่ (Chiang Mai Gate) (กึ่งกลางคูเมืองฝั่งใต้). สร้างในปี พ.ศ. 1839 เนื่องในการสถาปนาเมืองโดยพญามังราย เดิมเคยเป็นจุดเริ่มต้นของถนนที่มุ่งหน้าทิศใต้ไปยังลำพูน สร้างใหม่ในปี พ.ศ. 2343 และอีกครั้งในปี พ.ศ. 2509 - พ.ศ. 2512 ใกล้ๆ กันนั้นมีตลาด (สด) เชียงใหม่ขายของสดต่างๆ ติดๆ กันมีร้านอาหารจำนวนมาก ซึ่งได้รับความนิยมตลอดทั้งวันโดยเฉพาะช่วงเย็น ฝั่งตรงข้ามบนถนนวัวลายทางทิศใต้มีตลาดคนเดินทุกๆ วันเสาร์
- ประตูแสนปุง (Saen Pung Gate) (คูเมืองฝั่งทิศตะวันตกเฉียงใต้). ถูกพูดถึงเป็นครั้งแรกในบันทึกประวัติศาสตร์จากประมาณปี พ.ศ. 2088 เดิมใช้เพื่อขนศพออกจากเมืองไปยังเตาเผานอกตัวเมือง
- แจ่งกู่เฮือง (Ku Huang Corner) (SW corner). ตั้งชื่อตามที่เก็บอัฐิ "กู่" ที่บรรจุอัฐิของบุคคลที่มีชื่อว่า "เฮือง" สร้างขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2343 ถ้าเลี้ยวซ้ายที่นี่จะไปยังศูนย์การค้าแอร์พอร์ตพลาซ่าและสนามบิน
- ประตูสวนดอก (Suan Dok Gate) (คูเมืองฝั่งตะวันตก). มีสิ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้มาเยือนในบริเวณนี้น้อย นอกประตูนี้คือถนนสุเทพ ซึ่งไปยังวัดสวนดอก มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถานที่อื่นๆ
- แจ่งหัวลิน (Hua Lin Corner) (มุมคูเมืองฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือ). "ลิน" แปลว่า รางน้ำ ที่มุมนี้ ห้วยแก้ว ลำน้ำขนาดเล็ก ตัดทะลุแนวกำแพงเมืองผ่านช่อง เพื่อนำน้ำมาใช้ในชุมชน ถ้าเลี้ยวซ้ายที่นี่จะไปยังย่านนิมมานเหมินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ห้างเมญ่า และต่อไปยังดอยสุเทพ
ภูมิอากาศ
[edit | edit source]ภูมิอากาศ | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย (°C) | 30 | 32 | 35 | 36 | 34 | 32 | 32 | 31 | 31 | 31 | 30 | 28 |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย (°C) | 14 | 15 | 18 | 22 | 23 | 24 | 24 | 23 | 23 | 22 | 19 | 15 |
ปริมาณฝน (mm) | 7 | 5 | 13 | 50 | 158 | 132 | 161 | 236 | 228 | 122 | 53 | 20 |
ตรวจสอบ "พยากรณ์อากาศเมืองเชียงใหม่ 7 วัน" ได้ที TMD.go.th |
ตำแหน่งที่อยู่ทางเหนือและความสูงระดับปานกลางของเชียงใหม่ส่งผลให้เมืองมีภูมิอากาศแบบอบอุ่นมากกว่าภูมิอากาศทางใต้ (ที่มีเป็นภูมิอากาศแบบเขตร้อน)
เหมือนกันกับที่อื่นๆ ในประเทศไทย เชียงใหม่มีสามฤดูกาลที่แตกต่างกัน:
- ฤดูหนาว จากเดือน พ.ย. - เดือน ก.พ.
- ฤดูร้อน จากเดือน มี.ค. - เดือน มิ.ย.
- ฤดูฝน จากเดือน ก.ค. - เดือน ต.ค.