Wy/th/สุราษฎร์ธานี
สุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ในฝั่งตะวันออกของภาคใต้ โดยมีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลายทั้งที่ราบสูง ภูมิประเทศแบบภูเขา รวมทั้งที่ราบชายฝั่ง มีพื้นที่ครอบคลุมถึงในบริเวณอ่าวไทย ทั้งบริเวณที่เป็นทะเลและเป็นเกาะ เกาะในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์มีทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เกาะขนาดใหญ่เป็นที่รู้จักเช่นเกาะสมุย เกาะพะงัน และหมู่เกาะอ่างทอง เนื่องจากทำเลที่ตั้งจึงได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ซึ่งเกิดบริเวณทะเลอันดามันบ้างเป็นครั้งคราวเนื่องจากจะมีแนวเทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาภูเก็ต และเทือกเขานครศรีธรรมราช แถบบริเวณจังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร จังหวัดพังงา จังหวัดภูเก็ต และจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นแนวช่วยลดอิทธิพลของลมมรสุมดังกล่าว ในทางกลับกันพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานีจะได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือเป็นส่วนใหญ่ มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือปกติจะมีแหล่งกำเนิดบริเวณทะเลจีนใต้และอ่าวไทย ทำให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีช่วงฤดูฝนกินระยะเวลาตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนมกราคม การเดินทางมายังจังหวัดสุราษฎร์ธานีสามารถใช้ได้หลายเส้นทาง ทั้งทางรถไฟ เครื่องบิน รถโดยสารประจำทาง เรือ และรถยนต์ส่วนบุคคล
สถานที่สำคัญภายในจังหวัดนั้น มีทั้งแหล่งโบราณสถาน เช่น พระบรมธาตุไชยา พระธาตุศรีสุราษฎร์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติไชยา ซากเมืองโบราณสมัยอาณาจักรศรีวิชัย แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติทั้งอุทยานแห่งชาติทางบก และอุทยานแห่งชาติทางทะเล น้ำตก เกาะ แม่น้ำ เขื่อน วัด และพระอารามหลวง เป็นต้นและยังเป็นแหล่งสืบสานประเพณีที่สำคัญของชาวใต้ คือประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่าและแข่งขันเรือยาวชิงถ้วยพระราชทานอีกด้วย
นอกจากนี้ ยังมีผลิตผล และผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรที่เป็นที่รู้จัก เช่น ไข่เค็มไชยา หอยนางรม และเงาะโรงเรียน ดังที่ปรากฏในคำขวัญของจังหวัด เมืองร้อยเกาะ เงาะอร่อย หอยใหญ่ ไข่แดง แหล่งธรรมะ
ที่ตั้งและอาณาเขต
[edit | edit source]จังหวัดสุราษฎร์ธานีตั้งอยู่ฝั่งตะวันออกของภาคใต้ โดยมีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของประเทศ และอันดับ 1 ของภาคใต้ โดยมีจังหวัดที่มีอาณาเขตติดกัน ดังนี้
ด้านเหนือ ติดกับจังหวัดระนอง จังหวัดชุมพร และอ่าวไทย
ด้านใต้ ติดกับจังหวัดกระบี่และจังหวัดนครศรีธรรมราช
ด้านตะวันออก ติดกับจังหวัดนครศรีธรรมราชและอ่าวไทย
ด้านตะวันตก ติดกับจังหวัดพังงา
โดยทะเลฝั่งอ่าวไทยนั้นมีชายฝั่งยาวประมาณ 156 กิโลเมตร โดยมีเกาะที่อยู่ภายใต้เขตการปกครองของจังหวัดฯ ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และหมู่เกาะอ่างทองและยังมีเกาะน้อยใหญ่อีกมากมาย จึงได้ชื่อว่าเมืองร้อยเกาะ เช่นเกาะนางยวน
ประวัติศาสตร์
[edit | edit source]จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นที่ตั้งของเมืองเก่า เป็นศูนย์กลางของเมืองศรีวิชัย มีหลักฐานแสดงถึงการตั้งรกรากและเส้นทางสายไหมในอดีต พื้นที่อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีหรืออ่าวบ้านดอนเจริญขึ้นจนเป็นอาณาจักรศรีวิชัยในช่วงหลังพุทธศตวรรษที่ 13 โดยมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์เป็นเครื่องยืนยันความรุ่งเรืองในอดีต ภายหลังยังเชื่อว่า เมื่ออาณาจักรตามพรลิงก์หรือเมืองนครศรีธรรมราชมีความรุ่งเรืองมากขึ้นนั้น เมืองไชยาก็เป็นหนึ่งในเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ชื่อว่า "เมืองบันไทยสมอ"[1]
นอกจากนี้ในยุคใกล้เคียงกันนั้นยังพบความเจริญของเมืองที่เกิดขึ้นในบริเวณลุ่มแม่น้ำตาปี ได้แก่ เมืองเวียงสระ เมืองคีรีรัฐนิคม และเมืองท่าทอง โดยเชื่อว่าเจ้าศรีธรรมาโศก ผู้ครองเมืองนครศรีธรรมราชนั้นอพยพย้ายเมืองมาจากเมืองเวียงสระ เนื่องจากเป็นเมืองที่ไม่มีทางออกสู่ทะเล รวมทั้งเกิดโรคภัยระบาด[2]และเมื่อเมืองนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองนั้น ได้ยกเมืองไชยา และเมืองท่าทอง เป็นเมืองสิบสองนักษัตรของตนด้วย
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ก่อตั้งอู่เรื่อพระที่นั่งและเรือรบเพื่อใช้ในราชการที่อ่าวบ้านดอน ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงให้ย้ายที่ตั้งเมืองท่าทองมายังอ่าวบ้านดอน (ซึ่งเป็นที่ตั้งของอำเภอเมืองสุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน) พร้อมทั้งยกฐานะให้เป็นเมืองจัตวา ขึ้นตรงต่อกรุงเทพมหานคร และพระราชทานชื่อว่า "เมืองกาญจนดิษฐ์" โดยแต่งตั้งให้พระยากาญจนดิษฐ์บดีเป็นเจ้าเมืองดูแลการปกครอง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองกาญจนดิษฐ์ เมืองคีรีรัฐนิคม และเมืองไชยาเป็นเมืองเดียวกัน เรียกว่า "เมืองไชยา" ภายใต้สังกัดมณฑลชุมพร
เมื่อเมืองขยายใหญ่ขึ้น จึงมีการปรับเปลี่ยนการปกครองและขยายเมืองออกไป มีการสร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ อ่าวบ้านดอน ให้ชื่อเมืองใหม่ว่า อำเภอไชยา และให้ชื่อเมื่องเก่าว่า "อำเภอพุมเรียง" แต่เนื่องด้วยประชาชนยังติดเรียกชื่อเมืองเก่าว่า "อำเภอไชยา" ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงพระราชทานนามเมืองใหม่ที่บ้านดอนว่า "สุราษฎร์ธานี" และให้ชื่อเมืองเก่าว่า "อำเภอไชยา"ประวัติศาสตร์จังหวัดสุราษฎร์ธานีและพระราชทานนามแม่น้ำตาปี ให้ในคราวเดียวกันนั้นเอง ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามแบบเมืองและแม่น้ำในประเทศอินเดียที่มีแม่น้ำตาปติไหลลงสู่ทะเลออกผ่านปากอ่าวที่เมือง สุรัฎร์
ภูมิประเทศและภูมิอากาศ
[edit | edit source]จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีพื้นที่กว้างใหญ่ และมีสภาพภูมิประเทศที่หลากหลาย ได้แก่ ภูมิประเทศแบบที่ราบชายฝั่งทะเล ที่ราบสูง รวมทั้งภูมิประเทศแบบภูเขาซึ่งกินพื้นที่ของจังหวัดถึงร้อยละ 40 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีทิวเขาภูเก็ตทอดตัวในแนวเหนือ-ใต้ของจังหวัด และมีลุ่มน้ำที่สำคัญ คือ ลุ่มน้ำตาปี ไชยา ท่าทอง เป็นต้น
ด้านตะวันออกเป็นฝั่งทะเลอ่าวไทย และมีเกาะน้อยใหญ่ที่มีประชากรอาศัย ส่วนด้านตะวันตกมีลักษณะเป็นภูเขาสูง มีแม่น้ำสายสำคัญ คือ แม่น้ำตาปี
เนื่องจากทำเลที่ตั้งรวมถึงภูมิประเทศ จังหวัดสุราษฎร์ธานีจึงได้รับอิทธิพลจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดมาจากมหาสมุทรอินเดีย รวมทั้งมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านอ่าวไทย ดังนั้น จึงทำให้จังหวัดสุราษฎร์ธานีมีช่วงฤดูฝนยาวนานมาก โดยกินระยะเวลาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมจนถึงเดือนมกราคม โดยจังหวัดสุราษฏร์ธานีมีอุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย 21.16 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย 34.51 องศาเซลเซียส และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 129.59 มิลลิเมตร
ประเพณีและวัฒนธรรม
[edit | edit source]ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งขันเรือยาว
[edit | edit source]ประเพณีชักพระทอดผ้าป่าและแข่งขันเรือยาวของจังหวัดสุราษฏร์ธานี ที่นี่มีอีกชื่อหนึ่งก็คืองานเดือนสิบเอ็ด ซึ่งก็เป็นเวลาเดียวกับเทศกาลออกพรรษา กิจกรรมที่สำคัญได้แก่การประกวดเรือพระ ซึ่งจะมีทั้งรถพนมพระ และเรือพนมพระ ซึ่งรถและเรือพนมพระ อาจจะตกแต่งประดับประดาด้วยการแกะสลัก หรือฉลุไม้ ตกแต่งจำลอง เสมือนฉากที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึง ในงานพิธีจะใช้คนลาก เชื่อว่าผู้ที่ได้ร่วมลากจูงรถหรือเรือพนมพระจะได้อานิสสงค์หลายประการ
การจัดพุ่มผ้าป่าเป็นการจำลองพุทธประวัติของพระพุทธเจ้าแสดงออกเป็นตอน ๆ ด้วยการนำต้นไม้หรือกิ่งไม้ ประดับกับหลอดไฟสีต่างๆ บ้างก็จะจัดอุปกรณ์อื่นร่วมประกอบฉาก ทั้งการเขียนภาพ ปั้นรูปดินเหนียว อุปกรณ์ประกอบฉากจะไม่นิยมนำสิ่งมีชีวิตเช่นปลาสวยงาม เต่า หรือสัตว์เลี้ยงชนิดหนึ่งชนิดใดมาจัดประกอบฉาก เพราะเชื่อว่าเป็นการทรมานสัตว์ และจะไม่ได้รับอานิสสงค์ และตกแต่งด้วยเครื่อง อัฐบริขาร เพื่อในเช้าวันรุ่งของวันออกพรรษาจะได้นิมนต์พระมาทำพิธีทอดผ้าป่า การจัดพุ่มผ้าป่ามีทั้งหน่วยงานในจังหวัด ทังภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมกิจกรรม และมีการประกวดกันด้วยงานประเพณีนี้จัดขึ้นบริเวณเขื่อนลำนำตาปีตั้งแต่บริเวณศาลหลักเมืองจนกระทั่งถึงโรงแรมวังใต้ ขึ้นอยู่กับจังหวัดสุราษฎร์ธานีว่าในแต่ละปีจะเลือกเอาบริเวณใด
ประเพณีชักพระ ทอดผ้าป่า และแข่งขันเรือยาว ซึ่งจัดได้ว่าเป็นงานใหญ่งานหนึ่งของภาคใต้