Wn/th/เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2556

From Wikimedia Incubator
< Wn‎ | th
Wn > th > เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2556

เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้ของประเทศไทย พ.ศ. 2556 เป็นเหตุการณ์ไฟฟ้าดับเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2556 ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นทั่ว 14 จังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย ตั้งแต่เวลา 18.52 น.[1] นอกจากเหตุการณ์นี้จะเป็นเหตุไฟฟ้าดับ (black out) ครั้งแรกของภาคใต้[2] เหตุการณ์ครั้งนี้ยังนับเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดในรอบ 30 ปี นับแต่เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศไทย พ.ศ. 2521[3]

สาเหตุ[edit | edit source]

สาเหตุในการเกิดไฟฟ้าดับทั่วภาคใต้มาจากสายส่งไฟฟ้าแรงสูงจากโรงไฟฟ้าขนาด 500 กิโลโวลต์ ซึ่งเชื่อมภาคกลางและภาคใต้ บริเวณอำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เกิดขัดข้องในเวลาประมาณ 18.50 น. ของวันที่ 21 พฤษภาคม 2556[4] และยังมีผู้พบเห็นเหตุการณ์กล่าวว่าเหตุขัดข้องเกิดจากมีฟ้าผ่ามาถูกสายส่งไฟฟ้าแรงสูงในเวลาประมาณ 17.00 น.[5] ทั้งนี้ สายส่งไฟฟ้าใต้กว่านั้นเป็นสายส่งขาด 230 และ 115 กิโลโวลต์ เมื่อเกิดเหตุขัดข้องขึ้น ทำให้กระแสไฟฟ้าลงไปภาคใต้ไม่ทัน[6] ส่งผลให้เกิดไฟฟ้าดับตั้งแต่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ลงไป ต่อมา พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เหตุไฟฟ้าดับดังกล่าว เนื่องจากระบบรับ-ส่งไฟฟ้าของสถานีรับส่งไฟฟ้าแรงสูงที่อำเภอจอมบึง จังหวัดราชบุรี เกิดลัดวงจร[7] เมื่อเวลา 20.00 น. ผู้ว่าการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รายงานว่าซ่อมแซมสายส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์และราชบุรีแล้ว[2] ไฟฟ้ากลับมาใช้ได้เป็นปกติเมื่อเวลา 21.30 น. รวมเวลา 3 ชั่วโมง 18 นาที[8] การแก้ไขระบบส่งไฟฟ้าจากภาคกลางที่เกิดปัญหาเสร็จสมบูรณ์ในเวลา 23.45 น.[3]

รองผู้ว่าการระบบส่ง กฟผ. ระบุว่า ภาคใต้เป็นพื้นที่เดียวที่ใช้ไฟฟ้าที่สูงเกินกำลังผลิต และมีอัตราใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นสูงที่สุด เพราะมีศูนย์กลางการท่องเที่ยว[3] ปัจจุบัน ภาคใต้มีความต้องการใช้ไฟฟ้า 2,500 เมกะวัตต์ต่อวัน แต่กำลังการผลิตไฟฟ้าสามารถรองรับการใช้งานได้ 2,100 เมกะวัตต์ต่อวัน[9] ต้องส่งไฟฟ้าจากภาคกลาง และรับซื้อไฟฟ้าจากประเทศมาเลเซีย[10] ความต้องการใช้ไฟฟ้าระหว่างปี 2552-2555 เฉลี่ยเพิ่มขึ้นปีละ 6.8% สูงเป็นอันดับ 2 รองจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าเมื่อถึงปี 2561 ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 3,000 เมกะวัตต์ต่อวัน เบื้องต้น ภาครัฐมีแผนปรับให้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงให้มีขนาด 500 กิโลโวลต์ทั่วประเทศ และมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้ากำลังผลิตรวม 1,600 เมกะวัตต์ ใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี[10] รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้สั่งการให้ กฟผ. ตรวจสอบระบบสายส่งทั้งประเทศ เพราะทั้งภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็มีความเสี่ยง[6]

จากปัญหาดังกล่าว กรณ์ จาติกวณิช อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กตั้งคำถามว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นแผนผลักดันเพื่อสร้างโรงไฟฟ้าของรัฐบาลหรือไม่[11] ด้านกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสนอให้ กฟผ. เน้นพัฒนาการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและการผลิตแบบกระจายศูนย์[12]

อ้างอิง[edit | edit source]

  1. กฟผ.เผยสายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปภาคใต้เกิดขัดข้อง ทำให้ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัด
  2. 2.0 2.1 14จว.ใต้มืด ไฟดับสูญหมื่นล.
  3. 3.0 3.1 3.2 กฟผ.เผยภาคใต้ใช้ไฟมากเกินกำลังผลิต ชี้เหตุดับทั้ง14จว. ปัญหาใหญ่สุดของไทยรอบ30ปี!
  4. 14 จังหวัดภาคใต้สุดโกลาหลไฟดับทั้งเมือง
  5. พบแล้ว!เสาไฟแรงสูงต้นเหตุไฟดับ14จ.ใต้ชาวบ้านบอกโดนฟ้าผ่า2ครั้ง หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ
  6. 6.0 6.1 แก้วิกฤตไฟฟ้าเจอทางตัน"เพ้ง "รื้อทั้งระบบ-หวั่นดับซ้ำ ธุรกิจผวา "ไฟดับ" ความเสี่ยงใหม่
  7. สายส่งไฟฟ้าขัดข้อง14จังหวัดใต้เผชิญไฟดับ
  8. เปิดสาเหตุ 'ไฟใต้' ดับ ล่าสุด 14จ. ใช้การได้ปกติ
  9. กฟผ.แจงเหตุใต้ไฟฟ้าดับ14 จังหวัด สายไฟขนาด 500 เควีหลุดออกจากระบบ
  10. 10.0 10.1 เร่งรัฐจัดการปัญหาไฟฟ้าภาคใต้
  11. 'กรณ์' ชี้เหตุไฟดับ 14 จ.ใต้ บีบรับโรงไฟฟ้าถ่านหิน
  12. กรีนพีซยันไม่เอาถ่านหินแก้ไฟดับภาคใต้