Wn/th/"ทักษิณ" ล้มกระดานประกาศยุบสภา เลือกตั้ง 2 เมษายน
25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
right|thumb|160px|พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
หลังจากความวุ่นวายทางการเมืองที่ดำเนินมานานหลายเดือน อีกทั้งใกล้วันที่จะมีการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ในที่สุด พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภาและแถลงเหตุผลผ่านโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ โดยระบุว่า มีความขัดแย้งในสังคมที่อาจทำให้เกิดการจลาจล จึงขอคืนอำนาจให้ประชาชนเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายนนี้
ระหว่างไปร่วมงานสหกรณ์เข้มแข็งร่วมแรงขจัดความยากจน พ.ต.ท.ทักษิณได้ส่งสัญญาณบางอย่างในการกล่าวบนเวทีซึ่งทำให้เชื่อว่ากำลังจะมีการยุบสภา จากนั้นเมื่อเวลา 16.45 น. ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เดินทางไปเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน โดยนายเสริมศักดิ์ พงษ์พาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในการเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พ.ต.ท.ทักษิณได้ทูลเกล้าฯ เสนอทางเลือกให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พิจารณา 2 แนวทาง คือ การปรับคณะรัฐมนตรีและยุบสภา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดให้ยุบสภา
ก่อนหน้านี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ได้เข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ เพื่อหารือและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับสถานการณ์บ้านเมือง พ.ต.ท.ทักษิณเสนอที่จะปรับ ครม.เพื่อลดกระแสความขัดแย้ง แต่ พล.อ.เปรมแนะนำว่าควรยุบสภาดีกว่า
พระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2549 ระบุว่า "ได้เกิดการชุมนุมสาธารณะตั้งข้อเรียกร้องในทางการเมืองขึ้น ซึ่งแม้ระยะแรกจะอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่เมื่อนานวันเข้า การชุมนุมเรียกร้องได้ขยายตัวไปในทางที่กว้างขวางและอาจรุนแรงขึ้น รวมทั้งส่อเค้าว่า จะมีการเผชิญหน้า จนอาจปะทะกับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยและอาจมีการสอดแทรก ฉวยโอกาสจากผู้ที่ประสงค์จะเห็นความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมือง จุดชนวนให้เกิดความรู้สึกที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน จนลุกลามถึงขั้นก่อการจลาจลวุ่นวาย สร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินได้ ครั้นจะใช้อำนาจเจ้าหน้าที่ฝ่ายบ้านเมืองเข้าควบคุมดูแลอย่างเข้มงวด หรือแม้แต่รัฐบาลได้พยายามดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ด้วยการขอเปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติในที่ประชุมรัฐสภาแล้ว ก็ยังไม่อาจแก้ไขปัญหาและความคิดเห็นพื้นฐานที่แตกต่างกัน ทั้งระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับรัฐบาล และระหว่างกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกร้องกับกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วย และประสงค์จะเคลื่อนไหวบ้าง จนอาจเกิดการปะทะกันได้ สภาพเช่นว่านี้ ย่อมไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศ การเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยภายใต้ระบบรัฐสภา และความสงบเรียบร้อยของสังคม โดยเฉพาะในขณะนี้ ซึ่งควรจะสร้างความสามัคคีปรองดอง การดูแลรักษาสภาพของบ้านเมืองที่สงบร่มเย็นน่าอยู่อาศัย น่าลงทุน และการเผยแพร่ความวิจิตรอลังการ ตลอดจนความดีงามตามแบบฉบับของไทยให้เป็นที่ประจักษ์ เมื่อปัญหาที่เกิดขึ้น เป็นความคิดเห็นในสังคมที่หลากหลาย และยังคงแตกต่างกันจนกลายเป็นคามขัดแย้งทางการเมืองที่รุนแรงเช่นนี้ ครั้นจะดำเนินการเพื่อตรวจสอบความประสงค์อันแท้จริงของประชาชน โดยประการอื่น เพื่อให้ทุกฝ่ายหยั่งทราบ แล้วยอมรับให้เป็นไปตามกลไกในระบอบประชาธิปไตยก็ทำได้ยาก ทางออกในระบอบประชาธิปไตยที่เคยปฏิบัติมาในนานาประเทศ และแม้แต่ในประเทศไทย คือการคืนอำนาจการตัดสินใจทางการเมือง กลับไปสู่ประชาชนด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎร เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไปขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยต่อไป"
แหล่งที่มา
[edit | edit source]- test "อ้างเหตุหวั่น"จลาจล" ยุบสภา!". มติชน, 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549
- "พระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2549". สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2549