Wy/th/พิษณุโลก

พิษณุโลก เป็นจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย ตามความนิยมถือว่าอยู่ภาคเหนือตอนล่าง (ในขณะที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนดให้เป็นภาคกลาง) เมื่อกล่าวถึงพิษณุโลกก็มักจะหมายถึง เทศบาลนครพิษณุโลก ที่ครอบคลุมตำบลในเมืองทั้งตำบล ของอำเภอเมือง สิ่งที่โดดเด่นคือ พระพุทธรูปสำคัญ ณ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร "วัดใหญ่" ได้แก่ พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ และพระศรีศาสดา นอกจากนี้ยังมีวัดนางพญา อันเป็นต้นกำเนิดของ พระนางพญา ที่มีชื่อเสียงในวงการพระเครื่อง อาชีพหลักของพลเมืองคือรับราชการ และถือกันว่าพิษณุโลกเป็นเมืองราชการ มีค่ายทหารถึงสองค่าย (ค่ายหนึ่งอยู่นอกเขตเทศบาลฯ) และบริเวณศูนย์ราชการของพลเรือน พลเมืองส่วนใหญ่ไม่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษ หากจะท่องเที่ยวควรพามัคคุเทศก์หรือล่ามมาด้วย
ประวัติชื่อ[edit | edit source]
ชื่อเดิมของพิษณุโลกคือ สองแคว เพราะเมืองนี้ตั้งอยู่ระหว่างแม่น้ำสองสาย แควหนึ่งหมายถึงแม่น้ำน่าน (เดิมชื่อแม่น้ำแควใหญ่) ที่ไหลผ่าตัวเมืองเป็นสองฟากฝั่ง อีกแควหนึ่งคือแม่น้ำแควน้อยอันเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำน่าน ปัจจุบันเปลี่ยนเส้นทางออกไปไกลกว่า 10 กิโลเมตรทางทิศเหนือ (นี้เป็นแม่น้ำคนละสายกับแม่น้ำแควในจังหวัดกาญจนบุรี) หลังจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเสด็จมาประทับเป็นเวลา 25 ปี ได้ทรงสถาปนาเมืองสองแควเป็นราชธานี และได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจากสองแควเป็นพิษณุโลก
ภูมิอากาศและภูมิประเทศ[edit | edit source]
เมืองพิษณุโลกเป็นที่ราบลุ่มตั้งอยู่บนสองฟากฝั่งของแม่น้ำน่าน ผ่ากลางตลอดเหนือจดใต้ ซึ่งรับน้ำโดยตรงจากจังหวัดที่เหนือขึ้นไปจึงค่อนข้างเสี่ยงต่ออุทกภัย เป็นอาคารบ้านเรือนมากกว่าพื้นที่เกษตรกรรม ภูมิอากาศค่อนข้างร้อนและแห้งแล้ง แต่หน้าหนาวก็จะหนาวมาก
ภูมิอากาศ[edit | edit source]
ภูมิอากาศ | ม.ค. | ก.พ. | มี.ค. | เม.ย. | พ.ค. | มิ.ย. | ก.ค. | ส.ค. | ก.ย. | ต.ค. | พ.ย. | ธ.ค. |
---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|---|
อุณหภูมิสูงสุดเฉลี่ย (°C) | 31.6 | 33.8 | 35.8 | 37.2 | 35.6 | 34 | 33.2 | 32.5 | 32.5 | 32.4 | 31.7 | 30.7 |
อุณหภูมิต่ำสุดเฉลี่ย (°C) | 18.7 | 21 | 23.6 | 25.4 | 25.2 | 25 | 24.8 | 24.7 | 24.7 | 24.1 | 21.7 | 18.6 |
ปริมาณฝน (mm) | 3.9 | 13.5 | 26.7 | 55.7 | 170.9 | 165.7 | 179.4 | 247.6 | 246.6 | 162.5 | 33.4 | 11.1 |
การคมนาคม[edit | edit source]
นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมายังพิษณุโลกได้ทั้งทางรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน หรือแม้แต่ทางเรือได้โดยตรง (แต่ก็ไม่ค่อยนิยมมากนัก)
การเดินทางโดยรถยนต์ ไม่ว่าจะขับมาเอง หรือโดยสารรถประจำทางหรือรถตู้ก็ตาม จากกรุงเทพฯ ใช้เวลาเดินทาง 5 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ระยะทางประมาณ 377 กิโลเมตร สำหรับรถโดยสารสามารถลงที่สถานีขนส่งเดิม (ในตัวเมือง) หรือสถานีขนส่งแห่งใหม่ (ห่างออกไป 8 กิโลเมตรทางตะวันออก) หรือจุดจอดหน้าบริษัทเดินรถก็ได้ ถนนสายหลักเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองคือทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 มาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ บรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ที่ผ่านกลางใจเมืองในแนวตะวันออก-ตะวันตก ซึ่งคนท้องถิ่นเรียกว่า "ถนนมิตรภาพ" (เป็นคนละสายกับถนนในภาคอีสาน) แล้วเลี้ยวขวาสู่สถานีขนส่งเดิม นอกจากนี้ยังมีถนนเลี่ยงเมืองที่แยกออกจาก ทล. 117 อ้อมด้านทิศใต้ของเมืองไปยังสี่แยกอินโดจีน เพื่อไปยังสถานีขนส่งแห่งใหม่หรือจังหวัดอื่นในภาคเหนือ
การเดินทางโดยรถไฟ จากกรุงเทพฯ ขึ้นที่สถานีรถไฟหัวลำโพง หรือสถานีอื่นรายทางก็ได้ มาจนถึงสถานีรถไฟพิษณุโลกบริเวณตลาดในตัวเมือง ระยะทางประมาณ ... กิโลเมตร รถธรรมดาใช้เวลาอย่างต่ำ 8 ชั่วโมง (กำลังมีแคมเปญรถไฟฟรี) รถด่วนพิเศษใช้เวลาอย่างต่ำ 5 ชั่วโมง ที่สถานีมีรถถีบสามล้อและรถตุ๊กตุ๊กรับจ้างคอยให้บริการ
การเดินทางโดยเครื่องบิน มีเฉพาะสายการบินในประเทศเท่านั้นที่ให้บริการ จากกรุงเทพฯ สามารถขึ้นต้นทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง (DMK) หรือสุวรรณภูมิ (BKK) ก็ได้ ลงปลายทางที่ท่าอากาศยานพิษณุโลก (PHS) ซึ่งตั้งอยู่ทางทิศใต้ของตัวเมืองออกไปประมาณ 8 กิโลเมตร